วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ PRODUCT LIFE CYCLE


Product Life Cycle วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

Product Life Cycle คือ การอธิบายให้เห็นว่าสินค้าโดยทั่วไปนั้น มีการเติบโตของยอดขายอย่างไรตั้งแต่ช่วงแรกของการเข้าสู่ตลาดจนถึงช่วงที่ยอดขายขึ้นสู่จุดสูงสุดและค่อยๆลดลง จนถึงจุดจบของสินค้าตัวนั้นๆ คือการออกไปจากตลาด

Product Life Cycle ประกอบด้วย 4 ช่วงเวลา โดยการกำหนดกลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mixs) สำหรับสินค้าในแต่ละช่วงของ Product Life Cycle มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Promotion ซึ่ง Product Life Cycle นั้น ประกอบไปด้วย

1. Introduction (ช่วงแนะนำสินค้าสู่ตลาด) เป็นช่วงแรกของการวางตลาดเพื่อขายสินค้าดังกล่าว ช่วงนี้สินค้าจะยังไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้า จึงจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อแนะนำสินค้าสู่ตลาดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย ฯลฯ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ยอดขายยังต่ำ และมีการเติบโตอย่างช้าๆ

2. Growth (ช่วงสินค้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว) เป็นช่วงที่ 2 หลังจากทำการตลาดในช่วงแรกไปแล้ว เมื่อลูกค้าเริ่มรู้จักสินค้าทดลองใช้ และบอกต่อ ร้านค้าต่างๆ ที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเริ่มรู้จักและแนะนำให้ลูกค้าทำให้ยอดขายสินค้าเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีค่าใช้จ่ายสูงในการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้สินค้าติดตลาด

3. Maturity (ช่วงสินค้าติดตลาด) เป็นช่วงที่ 3 หลังจากลูกค้าได้ทดลองใช้และพอใจในสินค้า ก็เริ่มใช้เป็นประจำจึงมียอดขายอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันความจำเป็นในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ลดลง เนื่องจากสินค้าเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำตลาดลดลงกว่าช่วงแรกและช่วงที่ 2 ทำให้เป็นช่วงที่สร้างกำไรได้มากที่สุด
4. Decline (ช่วงสินค้าตกต่ำ) เป็นช่วงที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงสุดท้ายในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เมื่อสินค้าติดตลาดเป็นที่ต้องการของลูกค้า ย่อมมีคู่แข่งเข้ามาทำตลาดสินค้าแบบเดียวกัน ลูกค้าประเภทที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อตราสินค้าก็จะไปทดลองสินค้าใหม่ และอาจมีบางส่วนที่เลิกใช้สินค้าเดิมไปเลย ทำให้ยอดขายของสินค้าตกลงเรื่อยๆ ลูกค้าใหม่ก็แทบไม่มีเนื่องจากสินค้าลดการทำตลาดลงตั้งแต่ช่วงที่ 3 แล้ว ทำให้ไม่ได้ยอดขายจากกลุ่มลูกค้าใหม่ ในขณะที่ยอดขายจากกลุ่มลูกค้าเก่าลดลง จึงเป็นช่วงที่สินค้าเริ่มตกต่ำ และค่อยๆ หายไปจากตลาดในที่สุด


กลยุทธ์โดยทั่วไปในการทำ Promotion เมื่อพิจารณาถึง Product Life Cycle

1. ช่วง Introduction เป็นช่วงที่ต้องการสร้างการรับรู้สินค้าใหม่ สร้างความสนใจและความแตกต่างในคุณสมบัติของสินค้า สร้างการทดลองซื้อ มีการตอกย้ำบ่อยๆ จนผู้บริโภคเกิดความเชื่อว่าสินค้าดี น่าทดลองใช้ ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ใช้ในช่วงนี้ได้แก่ โฆษณาทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ใช้รถโฆษณา จัดประชาสัมพันธ์ ณ จุดขายต่างๆ หรือแจกตัวอย่างสินค้า
2. ช่วง Growth เป็นช่วงที่ต้องทำให้ผู้บริโภคที่ทดลองใช้แล้วให้จดจำสินค้าได้ ให้ซื้อซ้ำจนมั่นใจว่าผู้บริโภคได้ทดลอง และมีความมั่นใจในตัวสินค้าจนกระทั่งเกิดความจงรักภักดีกับสินค้า เพื่อสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากที่สุด กลยุทธ์ที่ใช้ในช่วงนี้ได้แก่ การใช้สื่อ พนักงานขาย ณ จุดขายต่างๆ จัดการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการซื้อซ้ำ เช่น การให้คูปองลดราคาเมื่อซื้อชิ้นต่อไป
3. ช่วง Maturity เป็นช่วงที่ต้องทำกำไรสูงสุด และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ จึงต้องตอกย้ำความมั่นใจในสินค้าแก่ลูกค้าเป็นระยะๆ หรือออกสินค้าที่ปรับปรุงดัดแปลง (minor change) เพื่อแสดงถึงการพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ ภายใต้จุดเด่นเดิมของสินค้า และเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
4. ช่วง Decline เป็นช่วงที่มียอดขายและกำไรตกต่ำ จึงต้องเน้นการขายออกให้เร็ว ให้ได้มากที่สุดก่อนจะออกจากตลาดไป กลยุทธ์ที่ใช้ในช่วงนี้ได้แก่ กลยุทธ์ด้านราคา เช่น การลดราคาลง

สินค้าทุกชนิดจะมี Product Life Cycle ของตนเอง จะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า และตำแหน่งของผลิตภัณฑ์นั้นที่เจ้าของสินค้้าต้องการ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่เจ้าของสินค้าต้องการให้เป็นผู้นำตลาด เจ้าของสินค้าย่อมทำตลาดอย่างต่อเนื่องทุกๆช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ และจะพยายามยืดช่วง Maturity ออกไปให้นานที่สุด ทำให้ Product Life Cycle ของสินค้าพวกนี้นานกว่าสินค้าประเภทแฟชั่นที่เจ้าของสินค้ามักจะทำตลาดแบบฉาบฉวย คือรีบประชาสัมพันธ์และขายให้หมดอย่างรวดเร็ว เพราะรู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้มักจะไม่ซื้อซ้ำ และไม่มีความจงรักภักดีต่อสินค้า

ดังนั้นแต่ละประเภทของธุรกิจจะต้องเข้าใจ Product Life Cycle และติดตามว่าสินค้าของตนอยู่ในช่วงใด โดยพิจารณาจากยอดขายของสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับแผนการตลาดที่ทำออกไป ความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้า สภาพการแข่งขันของคู่แข่งเดิม การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ กำไรจากสินค้า ความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อสินค้า ความง่ายและความเร็วของการตัดสินใจของลูกค้าในการใช้สินค้าของคู่แข่งหรือสินค้าทดแทน ฯลฯ ซึ่งป้ัจจัยทั้งหมดล้วนสำคัญต่อธุรกิจในการวางแผนในการปรับตัวเมื่อสินค้าเข้าสู่แต่ละช่วงของ Product Life Cycle

นอกจากการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mixs) ในแต่ละช่วงของ Product Life Cycle แล้ว การดำเนินการด้านปฎิบัติการก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นกลยุทธ์การดำเนินการด้านปฎิบัติการสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ ในแต่ละช่วงของ Product Life Cycle มีดังต่อไปนี้

ธุรกิจประเภทค้าขาย
- ช่วง Introduction สั่งซื้อในจำนวนที่น้อยก่อน ยอมรับต้นทุนต่อหน่วยที่สูง แต่มีความปลอดภัยหากสินค้าไม่ได้รับความนิยม ทำให้สามารถออกจากตลาดได้เร็ว
- ช่วง Growth สั่งซื้อให้สินค้าเข้ามาทันต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่าให้สินค้าขาดตลาด จนต้องสร้างการรับรู้ใหม่ ยอมรับต้นทุนต่อหน่วยที่สูง เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด
- ช่วง Maturity ต่อรองเรื่องต้นทุนต่อหน่วย หาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง หาสินค้าที่ปรับปรุงต่อยอดจากสินค้าเดิมเข้ามาขาย สร้างความแปลกใหม่ให้สินค้าในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
- ช่วง Decline วางแผนการหยุดสั่งซื้อ ระบายสินค้าออกให้เร็วที่สุดโดยใช้กลยุทธ์ราคา อย่าหวังกำไรกับต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำๆ

ธุรกิจประเภทให้บริการ
- ช่วง Introduction
สร้างพนักงานที่ให้บริการได้ดีในจำนวนที่ไม่มาก แต่เพียงพอกับลูกค้าในช่วงแรก โดยให้ผลตอบแทนสูง
- ช่วง Growth รับพนักงานเข้ามาเพิ่มอย่างรวดเร็ว จูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างเต็มที่และทันความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มอย่างรวดเร็วด้วยผลตอบแทนทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน อบรมอย่างพี่สอนน้อง กำหนดเป็นมาตรฐานการบริการขึ้นมาเพื่อให้พนักงานทำงานได้มาตรฐานเดียวกันทุกคน
- ช่วง Maturity ฝึกอบรมพนักงานบริการด้วยระบบการสอนและฝึกหัดที่เป็นมาตรฐาน สำรวจความพึงพอใจของลูกค้าอยู่เสมอ ให้ระบบผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและผลการทำงาน รักษาพนักงานที่ดีไว้และปรับลดพนักงานที่ไม่ดีออก ปรับปรุงเพิ่มเติมบริการใหม่ๆ ที่ต่อยอดการบริการเดิม
- ช่วง Decline วางแผนการให้บริการอื่นแทนการบริการเดิมอย่างรวดเร็ว ฝึกอบรมพนักงานให้รองรับบริการใหม่ให้ได้ ใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อสร้างยอดขายช่วงสุดท้ายเพื่อเอาเงินมาหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจประเภทการผลิต
- ช่วง Introduction เน้นการผลิตด้วยวิธี Manual จนมั่นใจว่าสินค้ามีแนวโน้มติดตลาด วางแผนการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์และหาพนักงานมาทำงานได้ทันที
- ช่วง Growth ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมกับเพิ่มพนักงาน เน้นการผลิตให้ทันกับยอดขาย ต้องยอมจ่ายค่าล่วงเวลา
- ช่วง Maturity คาดการณ์ว่าควรขยายการผลิตอย่างไรให้เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรและคนเพื่อลดต้นทุน วางแผนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้ยืดหยุ่นกับการผลิตสินค้าที่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ช่วง Decline วางแผนการนำสายการผลิตไปใช้การผลิตสินค้าอื่นอย่างรวดเร็ว เตรียมความพร้อมของพนักงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ขายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้อย่างรวดเร็วโดยไม่หวังกำไร

สำหรับธุรกิจประเภทอื่นๆ ต้องนำไปประยุกต์ใช้เองครับ ส่วนเคล็ดลับการวางแผนกลยุทธ์ระดับสูงกว่านี้ ต้องว่ากันตัวต่อตัวตามประเภทของธุรกิจกันอีกทีครับ (ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว)





คลิป"วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์" - http://mmd.rmutp.ac.th/play_video.php?mm_id=86

3 ความคิดเห็น:

  1. โห

    เนื้อหาเยอะจัง

    อิอิ

    ตอบลบ
  2. ขออนุญาตฝากลิงค์นะคะ
    เกมส์คาสิโน สมัครเปิดบัญชีแรกเข้า ขั้นต่ำ 500 บ.ที่นี่เลยค่ะ
    https://www.111player.com


    ตอบลบ